ปัจจุบันนี้คนไทยเราหันมาให้ความสนใจในอาหารสุขภาพกันมากขึ้น และอาหารประเภทโปรตีนที่จัดว่าเกาะติดกระแสของอาหารสุขภาพ คงหนีไม่พ้นอาหารประเภทปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทะเล เนื่องจากอุดมไปด้วยกรดไขมันชนิดที่เรียกว่าโอเมกา 3 ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างมากประการ
ปลาทะเลที่พวกเราส่วนมากคุ้นตากันดี เพราะเห็นได้บ่อยก็มักจะเป็น ปลาทู ปลาลัง ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาตาโต และปลาทะเลอีกสารพัดชนิด ซึ่งมักจะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลแถบบ้านเรานี่แหละครับ
แต่พอระยะหลังมานี่ เป็นยุคที่เค้าเรียกว่า “การค้าเสรี”
สมดังที่หลักศิลาจารึกสมัยพ่อขุนราม ฯ ที่ว่า
ใครใคร่ค้าช้าง ค้า ใครใคร่ค้าม้า ค้า
ใครใคร่ค้าปลา ค้า ส่วนใครที่ใคร่ค้ายาบ้า.....เอ่ออออ ก็ได้โปรดเตรียมตัวติดตะรางก็แล้วกัน แถมโดนยึดทรัพย์อีกต่างหาก !!!
ก็เป็นอันว่า ยุคสมัยนี้ปลาต่างด้าวต่างภาษาได้เดินพาเหรดรุกคืบเข้ามาวางจำหน่ายในบ้านเราหลากชนิดหลายยี่ห้อ
ผมไม่ขอพูดถึงปลาแพงๆ หยั่งปลาแซลมอน ซึ่งคน(ไทย)ที่มีกะตังค์เหลือใช้ เค้านิยมซื้อหามารับประทานกัน แต่กำลังจะพูดถึงปลาต่างประเทศชนิดหนึ่งที่มีราคาติดดิน พอที่ชาวบ้านร้านช่องธรรมดา ๆ จะมีปัญญาซื้อกินกัน
นั่นก็คือ “ปลาซาบะ” นั่นเอง
ตัวผมเองก็มักจะชอบจ่ายตลาด ซื้อกับข้าวกับปลาด้วยตัวเองออกบ่อย
ยังจำได้ว่าตอนที่ประสบพบเจอกะ “ปลาซาบะ” นี้เป็นครั้งแรกในตลาดสดเมื่อหลายปีก่อนโน้น
ด้วยว่าไม่เคยพบหน้าค่าตากันมาก่อน ก็เลยเอ่ยปากถามแม่ค้าที่กำลังเมาท์กับเพื่อนแม่ค้าด้วยกัน ถึงละครช่องสามเมื่อคืนที่ผ่านมาอย่างออกรส
“นี่มันปลาอะไรกันครับ แม่ค้าคนสวย ?” พลางนึกในใจว่า วันนี้หัดพูดปดตั้งแต่เช้าเลยแฮะเรา สวยเสยที่ไหนกัน หน้าตาของแกดูยังกับนางยักษ์ปวดท้องคลอด
“ปลาซาบะค่ะ พ่อรูปหล่อ ลองซื้อไปชิมดูสิ อร่อยนะคะ จะเอาไปย่างหรือทอดก็อร่อยดี” แม่ค้าจีบปากจีบคอเฉลยให้ทราบ พร้อมกับโบกมือกับเพื่อนที่กะลังเมาท์กันมันได้ที่ เป็นเชิงว่า ขอเวลานอกแป็บนึง เดี๋ยวขายปลาให้พ่อหนุ่มคนนี้เสร็จแล้ว เราค่อยมาคุยกันต่อ
(ปากชมว่าพ่อรูปหล่อ แต่ในใจแกอาจจะกำลังนินทาผมอยู่ว่า หล่อที่ไหนกัน น่าตายังกะปลากระเบนโดนรถร่วม ขสมก. ทับ ฉันแกล้งชมเพื่อให้แกซื้อปลาต่างหากย่ะ! -เป็นอันว่าหายกัน คือผมแอบค่อนขอดแม่ค้าแกอยู่ในใจ ฝ่ายแกก็สวนตอบอยู่ในใจเช่นเดียวกัน)
ผมตัดสินใจซื้อปลาซาบะนั่นมาสองตัว กลับถึงบ้านก็เอ่ยปากสั่งภรรเมียทันที
“นี่เธอ ช่วยจัดการย่างปลาสองตัวนี่เสียโดยไว อย่าได้พิรี้พิไรชักช้าทำให้เสด็จพี่มีน้ำโห และระหว่างที่รอปลาสุก ก็ทำน้ำจิ้มแซ่บๆ ไว้จิ้มปลาย่างนั่นด้วยล่ะ”
พอปลาสุกได้ที่ น้ำจิ้มพร้อม มีผักสดเป็นเครื่องเคียงนิดนึง กินกะข้าวสวยร้อนๆ ควันกรุ่น
“อืม ! สุดยอด จริง ๆ”
แต่ก็ทราบมาว่า มีบางคนไม่ชอบกินเจ้าปลาซาบะนี่ เมียผมคนนึงล่ะที่ติดอยู่ในกลุ่มนี้ คุณเธอติว่าไม่ชอบกลิ่นของมัน ด้วยว่ามันรู้สึกหืนๆแปลกพิกล
แต่ส่วนมากเท่าที่ผมเห็น คนปกติทั่วไปมักจะชอบกินเจ้าปลายี่ห้อนี้นี่กันทั้งนั้น (นี่ไม่ได้หมายความว่าเมียผมเป็นคนไม่ปกตินะครับ หล่อนเพียงแค่ไม่เหมือนชาวบ้านทั่วไปเท่านั้นแหละ)
ตัวผมเองกินปลาซาบะมาก็หลายศพจนนับไม่ถ้วนแล้ว ตอนหลังนี่ชักจะอยากรู้ซะแล้วว่า นาม –ซาบะ- นี้ท่านได้แต่ใดมา เห็นชื่อออกแนวญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น ไม่ทราบว่ามีประวัติความเป็นมาบู๊โลดโผนขนาดไหน
ลองเอ่ยปากถามใคร ๆ ดูสองสามราย ก็ไม่มีใครให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้
สุดท้ายเลยต้องพึ่งเพื่อนเก่าเจ้าประจำ คือ ไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ก็พอจะประมวลมาเล่าให้พวกเราฟัง ดังนี้
ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องที่น่าเวียนหัวกันก่อน ด้วยว่ามีภาษาฝรั่งปนเข้ามาเยอะหน่อย เผื่อใครรำคาญก็อ่านข้าม ๆ ส่วนที่มันเป็นภาษาต่างด้าวไปบ้างก็ไม่ว่ากัน
ปลาซาบะที่เราเรียกขานกันอยู่นี่ จัดอยู่ใน Genus หรือวงศ์ Scomber ปลาที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็เช่น ปลาจำพวก Mackerel ทั้งหลายแหล่
ปลาสัญชาติไทยเราที่ฝรั่งจัดให้อยู่ในกลุ่มแมคเคอเรลด้วยกันก็เช่น ปลาทู ปลาอินทรีย์ เป็นอาทิ
หลายคนอาจจะสงสัยที่มาของชื่อ “ปลาซาบะ” ว่าได้ชื่อมาจากไหนกัน ? ซึ่งก็คงพอจะเดาออกว่าน่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่น ถูกต้องแล้วครับ คนญี่ปุ่นเรียกปลาพวก mackerel ทั้งหลายว่า “ปลาซาบะ” เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า さば
ผมเข้าใจเอาว่าชื่อหลายชื่อ ที่ออกแนวญี่ปุ่น ญี่ปุ่น นั้น มันคงคุ้นลิ้นคนไทยดีอยู่แล้ว ออกเสียงได้ง่าย ลิ้นไม่พันกันจนเกินไป เช่น ซาชิมิ ซูชิ ซูซูกิ ฮิตาชิ ซากุระ อาโนเนะ ฯลฯ
ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว เราก็เลยยืมชื่อญี่ปุ่นเค้ามาใช้เรียกปลาพวกนี้ว่า “ซาบะ” ซะเลยจะเป็นไรไป
ง่ายกว่าจะเรียกแบบฝรั่งว่า “ปลาแมคเคอเรล” เป็นไหน ๆ จริงมั้ยครับ ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น